วัดศรีโคมคำ

วัดศรีโคมคำเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนที่ใหญ่ที่สุดในล้านนา ตามที่ได้รับการบันทึกในศิลาจารึก การสร้างพระเจ้าตนหลวงใช้เวลาถึง 33 ปี กล่าวคือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2034-2067 พระธรรมปาล เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดศรีโคมคำได้บันทึกไว้ว่า อารามแห่งนี้มีขึ้นมาแต่โบราณกาลแล้วแต่เนื่องด้วยสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านทำให้ผู้คนต้องถูกเกณฑ์ให้ไปอยู่ที่หลวงพระบาง ประเทศลาว จังหวัดพะเยาจึงกลายเป็นเมืองร้างเป็นเวลานาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำในขณะนั้นได้มีดำริที่จะบูรณปฏิสังขรณ์วิหารพระเจ้าตนหลวงที่ทรุดโทรมเนื่องจากภัยธรรมชาติ จึงได้อาราธนาครูบาศรีวิชัย (ผู้บูรณะวัดพระธาตุดอยสุเทพจังหวัดเชียงใหม่) มาเป็นประธานในการบูรณะเนื่องจากครูบาศรีวิชัยมีลูกศิษย์ลูกหามากจึงสามารถระดมกำลังศรัทธาที่จะร่วมปฏิสังขรณ์ศาสนสถานที่สำคัญนี้

เมื่อผ่านเข้าประตูวัดศรีโคมคำ จะสามารถมองเห็นวิหารหลวงซึ่งเป็นอาคารหลักของวัดแห่งนี้โดยหน้าแหนบหน้าบันของวัดเป็นวิหารแบบล้านนาทั่ว ๆ ไปจะมีลักษณะเป็นกรอบตารางเป็นลายพันธุ์พฤกษา (ดอกราชพฤกษ์) เต็มพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ประการหนึ่งของสถาปัตยกรรมที่สร้างหรือปฏิสังขรณ์โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยที่นำลักษณะของสถาปัตยกรรมภาคกลางเข้าไปผสมผสานอย่างลงตัวอย่างไรก็ดีในหน้าแหนบหน้าบันมีการแทรกรูปสัตว์และเทวดาลงไปด้วย ในจำนวนนั้นมีครุฑ ซึ่งเป็นลวดลายที่สามารถพบได้ในอุโบสถและวิหารในภาคกลาง และที่น่าสนใจไปกว่านั้น ใกล้ๆ รูปครุฑ ขนาบสองฝั่งด้วยเสือเหลียวหลัง 2 ตัว เสือเป็นสัตว์ที่พบได้บ่อยบนหน้าบันวิหารหลวงที่สร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย เหตุผลที่เป็นเสือนั่นก็เพราะว่าครูบาศรีวิชัยเกิดปียี่หรือปีขาล ดังนั้น จึงมีสัญลักษณ์นี้ใส่เอาไว้ในหน้าแหนบหน้าบันด้วยนั่นเอง

ภายในวิหารหลวงประดิษฐานพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปศิลปะล้านนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ พระพุทธรูปนี้มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอรหันตสาวกเสด็จมายังเมืองภูกามยาว (ชื่อเดิมของเมืองพะเยา) ทรงประทับ ณ ดอยลูกหนึ่งข้างสระหนองเอี้ยงซึ่งมีหมู่บ้านโดยรอบ ได้มีช่างทองในหมู่บ้านทราบข่าวการเสด็จมาและได้จัดภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ พระพุทธองค์ได้พิจารณาเห็นว่าที่นี่มีความเหมาะสมที่จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาจึงประทานเส้นพระเกศาแก่ช่างทองนำไปบรรจุในผอบ 7 ชั้น โดยประทานแก่พระยาอโศก ซึ่งได้มอบถวายพระอินทร์ แล้วให้พระวิษณุกรรมนำไปประดิษฐานในถ้ำใต้จอมดอย ทำให้ดอยแห่งนั้นได้ชื่อว่า ดอยจอมทอง
ตำนานยังเล่าต่ออีกว่า ณ บริเวณแถบนี้พระพุทธเจ้ายังได้ทรมานพญานาคในหนองเอี้ยงและตรัสสั่งว่า เมื่อศาสนามาถึงครึ่งค่อน 5,000 ปี ให้พญานาคสร้างรากฐานของพระพุทธศาสนาลงที่หนองเอี้ยงและสร้างพระพุทธรูปขนาดเท่าพระพุทธเจ้ากกุสันธะ (ในภัทรกัปที่เราอยู่ตอนนี้มีพระพุทธเจ้าอยู่ 5 พระองค์ พระพุทธเจ้ากกุสันธะเป็นองค์แรก ส่วนพระสมณโคดมเป็นองค์ที่ 4) ดังนั้น เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พญานาคจึงได้นำทองคำจากพิภพนาคมาไว้ที่ฝั่งหนองเอี้ยง ก่อนจะเนรมิตตัวเองเป็นบุรุษนุ่งขาวและเดินทางไปหาตายายผัวเมียที่ทำอาชีพเลี้ยงห่าน พร้อมกับนำทองคำนั้นมอบแก่สองตายายและให้สร้างพระพุทธรูปตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสั่งไว้ ตายายจึงได้นำดังกล่าวไปใช้เป็นค่าจ้างในการถมหนองเอี้ยง จากนั้นจึงเริ่มก่อองค์พระเจ้าตนหลวงด้วยดินกี่หรืออิฐจนแล้วเสร็จ เมื่อสร้างเสร็จ พระเมืองตู้ได้ส่งราชสาส์น(จดหมาย,หนังสือ)ไปทูลพระเมืองแก้ว กษัตริย์ผู้ปกครองเชียงใหม่ในเวลานั้น ว่าการก่อสร้างพระเจ้าตนหลวงได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว พระเมืองแก้วจึงพระราชทานเงินและทองด้วยความศรัทธาของพระองค์เพื่อนำมาใช้สร้างวิหาร และทรงพระราชทานพระนามแก่พระพุทธรูปองค์นี้ว่า ‘พระเจ้าตนหลวงทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยา’

บริเวณสวนข้าง ๆ วัดศรีโคมคำจะมีปริศนาธรรมเรื่องการทำความดีและความชั่วที่ต้องตกนรกไปนั่งเฝ้ายมบาลรอการได้รับการลงโทษในเรื่องต่าง ๆ ที่มนุษย์เคยกระทำผิดมา ซึ่งบริเวณดังกล่าวได้มีการจัดทำรูปปั้นแสดงภาพเปรต รูปปั้นการตกนรกลงโทษผู้กระทำผิดศิลการคบชู้ด้วยการปีนต้นงิ้วที่มีหนามแหลมคม รูปปั้นตกนรกขุมกระทะทองแดงที่มีน้ำร้อนแล้วต้องโดนต้มในนั้นเพื่อให้ได้ความทรมานจากน้ำร้อน เพื่อเตือนสติให้แก่ผู้คนว่าอย่าทำความชั่วตอนมีชีวิตอยู่ต้องหมั่นทำความดี

รอยพระพุทธบาทจำลองวัดศรีโคมคำเมืองพะเยา แต่เดิมขุดพบได้ที่วัดสวนจันทร์นอก ซึ่งเป็นวัดร้างแห่งหนึ่งอยู่ตรงบริเวณตึกแถวหลังโรงแรมธารทอง อ.เมือง จ.พะเยาปัจจุบัน ย้อนไปเมื่อปีพ.ศ. 2446 ผู้บังคับกองตำรวจภูธรเมืองพะเยา มีความต้องการจะถมพื้นที่และทำถนนในบริเวณสถานีตำรวจ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดสวนจันทร์นอก จึงสั่งให้พวกนายสิบและพลฯตำรวจใต้บังคับบัญชาไปรื้อฐานเจดีย์เพื่อจะเอาเศษก้อนอิฐไปถมที่ เมื่อรื้อเข้าไปใต้ฐานเจดีย์พบรอยพระพุทธบาทจำลองศิลา 2 ข้างคือ ทั้งเบื้องซ้ายและเบื้องขวาฝังเรียงคู่กันตั้งอยู่ตรงกลางฐานเจดีย์มีสภาพสมบูรณ์ พระครูศรีวิลาสวชิรปัญญา อดีตเจ้าคณะแขวงเมืองพะเยาสมัยนั้น จึงได้นำไปประดิษฐานไว้ชั่วคราวที่วัดหัวข่วงแก้ว ต่อมาภายหลังเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเจ้าตนหลวงแล้วเสร็จปีพ.ศ. 2467 จึงย้ายไปประดิษฐานไว้ที่ศาลารอยพระพุทธบาทจำลองหน้าวิหารวัดพระเจ้าตนหลวงหรือวัดศรีโคมคำเพื่อให้ชาวเมืองพะเยาและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้มีโอกาสสักการะบูชา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
รอยพระพุทธบาทจำลองวัดศรีโคมคำนี้ถือว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจำลองที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในล้านนา รูปแบบศิลปะสกุลช่างพะเยาที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัยและศิลปะพุกามลักษณะมีลวดลายมงคล 108 ประการประดับอยู่ตามระเบียบและลำดับคล้ายกับรอยพระพุทธบาทจำลองที่พุกามสมัยพุทธศตวรรษที่ 17และสุโขทัยสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 19-20 แต่มีความใกล้เคียงกับประเพณีหรือคตินิยมแบบพม่ามากกว่าเพราะทำเป็นรอยคู่มิใช่เป็นรอยเดี่ยวเหมือนกับแบบสุโขทัย แต่ละรอยบรรจุอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่ถูกแบ่งเป็นช่องๆ บรรจุหรือแกะสลักเป็นรูปเทวดาทำอัญชลีหรือเทวดาเหาะถือดอกไม้อันเป็นเครื่องบูชา

ภายในบริเวณวัดศรีโคมคำยังมี พระอุโบสถกลางน้ำ ซึ่งเป็นศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ สร้างขึ้นโดยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ โดยมี นิยม สิทธหาญ มัณฑนากรจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และ จินดา สหสมร สถาปนิกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันออกแบบ ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระพุทธประวัติและวิถีชีวิตผู้คน ฝีมือของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ และ ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังรูปต้นพระศรีมหาโพธิ์ และภาพเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ ซึ่งเป็นภาพวาดที่มีความสวยสดงดงามเป็นอย่างมาก นอกจากนี้อุโบสถกลางน้ำยังมีความโดดเด่นอีกประการหนึ่ง นั่นก็คือ เป็นอุโบสถที่ตั้งอยู่ติดกับกว๊านพะเยา ซึ่งเป็นบึงน้ำขนาดที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ

วิหารอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2491 แม้จะเป็นอาคารที่สร้างหลังยุคครูบาเจ้าศรีวิชัย แต่ลวดลายบนหน้าแหนบก็ยังมีรูปเสือ สัตว์ประจำปีเกิดของท่าน แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นภายในวิหารหลังนี้มีหลายสิ่งที่ไม่ได้สามารถหาชมได้ทั่วไปตามวัดวาอารามที่ครูบาศรีวิชัยได้มาบูรณปฏิสังขรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกู่บรรจุอัฐิของครูบาเจ้าศรีวิชัย รวมไปถึงรูปหล่อครูบาศรีวิชัยแบบดั้งเดิมฝีมือช่างท้องถิ่น ที่นี่มีรอยมือข้างซ้ายและรอยเท้าทั้งสองข้างของครูบาศรีวิชัยบนแผ่นหินทราย ซึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ประทับไว้เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ศิษยานุศิลป์(ศิษย์น้อยใหญ่) และชาวจังหวัดพะเยา
ข้อมูลอ้างอิง
https://readthecloud.co/wat-si-khom-kham
https://pukmudmuangthai.com/detail/7743
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์,”ประวัติศาสตร์เมืองพะเยา”
ดร.นันทนา ชุติวงศ์,”รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์
น. ณ ปากน้ำ ,”เมืองโบราณ ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 พ.ศ.2519″