วัดติโลกอาราม

วัดติโลกอาราม

เมื่อปี พ.ศ. 2526 มีการค้นพบศิลาจารึกซึ่งจารึกเป็นอักษรขอม (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดศรีจอมทอง) ทำให้เราทราบถึงประวัติของวัดติโลกอารามและพระพุทธรูปหลวงพ่อศิลาซึ่งจมอยู่ในกว๊านพะเยาเป็นเวลานาน จารึกดังกล่าวระบุว่าวัดติโลกอารามสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2019 โดยพญายุทธิษฐิระเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าติโลกราช ผู้ครองอาณาจักรล้านนา เมื่อ พ.ศ. 2550 ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาได้มีดำริให้บูรณะสถานที่ที่ค้นพบพระพุทธรูปหลวงพ่อศิลา จากนั้น ได้ประดิษฐานหล่วงพ่อศิลาไว้ที่วัดติโลกอารามกลางกว๊านพะเยาซึ่งขณะนี้มีลักษะเป็นเกาะเล็กๆ เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือแจวในระหว่างเวลา 7.00-19.00 น. เพื่อไปสักการะหล่วงพ่อศิลาและยังได้สัมผัสกับอากาศอันบริสุทธิ์ของกว๊านพะเยาตลอดจนทัศนียภาพอันสวยงามของกว๊านพะเยาที่ล้อมรอบด้วยทิวเขาอันสวยงาม นอกจากนี้ ช่วงค่ำของวันสำคัญทางศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา จะมีขบวนเรือเวียนเทียนกลางน้ำ นักท่องเที่ยวสามารถลงเรือเพื่อเวียนเทียนกลางน้ำได้เช่นกัน โดยปกติแล้วระหว่างคืนวันสำคัญทางศาสนาที่กล่าวไว้ข้างต้น พุทธศาสนิกชนจะถือธูป เทียน และดอกไม้เพื่อเวียนเทียนรอบสถานที่สำคัญทางศาสนาจำนวน 3 รอบ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญของพระศาสดา ทั้งนี้ พิธีเวียนเทียนกลางน้ำรอบพระธาตุเจดีย์วัดติโลกอารามกลางกว๊านนับเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
การเดินทางไปยังวัดติโลกอารามซึ่งตั้งอยู่กลางน้ำกว๊านพะเยา นักท่องเที่ยวต้องมาที่จุดท่าเรือหน้ากว๊านพะเยา โดยการให้บริการล่องเรือพายข้ามฟากไปยังวัดติโลกอาราม เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 07.00-19.00 น. ค่าบริการล่องเรือคนละ 60 บาท ระยะเวลาในการล่องเรือพายจากท่าเรือไปถึงวัดติโลกอารามใช้เวลาไปและกลับประมาณ 15 นาที
ปี พ.ศ. 2526 มีการค้นพบพระพุทธรูปใต้กว๊านพะเยา เป็นพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย ศิลปะสกุลช่างพะเยา หน้าตักกว้าง 105 เซนติเมตร ชาวบ้านได้อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาจากน้ำ จากนั้นทางจังหวัดพะเยาได้เชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีอุโมงค์คำ จนปี พ.ศ. 2550 ได้มีการบูรณะสันธาตุบวกสี่มุมขึ้นมา มีการตั้งฐานบุษบกด้วยอิฐดินเผา และได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปหินทรายจากวัดศรีอุโมงค์คำมาประดิษฐานไว้บนฐานบุษบกบริเวณลานซึ่งสร้างขึ้นมาเหนือน้ำ ที่วัดติโลกอารามพระนามว่า “หลวงพ่อศิลา” มีลักษณะเฉพาะอันได้รับอิทธิพลจาก พระพุทธรูปสิงห์หนึ่งพุทธศิลปะเชียงแสน ผสมผสานกับพระพุทธรูปหมวดใหญ่ศิลปะสุโขทัย อักษรฝักขามบนศิลาจารึกทำให้รอยต่อทางประวัติศาสตร์จังหวัดพะเยา เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมสุโขทัยและล้านนาอย่างเป็นเหตุเป็นผล

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.museumthailand.com/th/232/webboard/topic/วัดติโลกอาราม-มหัศจรรย์วัดกลางน้ำ